คาถาชินบัญชร คาถาเกราะเพชร ป้องกันภยันตรายทั้งปวง

          คาถาชินบัญชร บทสวดมนต์ที่มีพุทธคุณเป็นเลิศ เปรียบเสมือนเกราะเพชร ช่วยเสริมดวงและป้องกันภยันตรายทั้งปวง มาดูที่มาและวิธีสวดมนต์บทนี้กัน
คาถาชินบัญชร คาถาเกราะเพชร ป้องกันภยันตรายทั้งปวง

          การสวดมนต์ถือเป็นสิ่งที่พุทธศาสนิกชนทั้งหลายพึงทำ เพื่อเป็นการสร้างสมาธิและเรียกสติในเวลาเดียวกัน ซึ่งก็มีไม่น้อยเลยที่สวดมนต์เพื่อเสริมดวง ปัดเป่าสิ่งไม่ดีต่าง ๆ ให้พ้นจากตัว หนึ่งในบทสวดมนต์ที่คนนิยมสวดกันมากที่สุดคือ คาถาชินบัญชร ซึ่งถือเป็นคาถาที่มีพุทธคุณมาก ช่วยป้องกันภยันตรายและทำให้แคล้วคลาด วันนี้กระปุกดอทคอมขอพาไปเปิดที่มาของคาถานี้ พร้อมบทสวดมนต์ที่ถูกต้องให้นำไปสวดกัน

ตำนานคาถาชินบัญชร

          คาถาชินบัญชรมีหลักฐานปรากฏในประวัติศาสตร์พม่า คือเรื่องพุทธนวมวินิจฉัย ในวินยสมูหวินิจฉัย กล่าวว่า แต่งที่เมืองเชียงใหม่ ในรัชสมัยพระเจ้าอโนรธา เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ รัชกาลที่ 20 ระหว่าง พ.ศ. 2121-2150 เพราะในสมัยนั้นชาวเมืองเชียงใหม่นิยมบูชาดาวนพเคราะห์ พระเจ้าอโนรธาจึงปรึกษากับพระเถระแล้วรับสั่งให้ชาวเมืองสวดพระคาถาชินบัญชรและคาถาอื่น ๆ แทนการบูชาดาวนพเคราะห์ที่ไม่คล้อยตามคําสอนในพระพุทธศาสนา ดังนั้น จึงมีข้อสันนิษฐานว่าพระเถระชาวล้านนาเป็นผู้แต่งขึ้น โดยพระคาถานี้ยังแพร่หลายถึงประเทศพม่าและศรีลังกาอีกด้วย
          คาถาชินบัญชรเป็นพระคาถาสำคัญในพิธีกรรมตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา ดังปรากฏหลักฐานในพระราชพิธีจักรพรรดิราชาธิราช ต่อมาได้ปรับปรุงแก้ไขให้สมบูรณ์ขึ้นโดยเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) วัดระฆังโฆสิตาราม สมเด็จพระพุฒาจารย์องค์ที่ 5 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ (สมัยรัชกาลที่ 4)
คาถาชินบัญชร คาถาเกราะเพชร ป้องกันภยันตรายทั้งปวง

ภาพจาก : Nopwaratch Stock / Shutterstock.com

เริ่มสวดคาถาชินบัญชรยังไงดี

          การหัดสวดคาถาชินบัญชรควรจะเริ่มสวดในวันพฤหัสบดีข้างขึ้น ซึ่งถือว่าเป็นวันครู โดยให้เตรียมดอกไม้ 3 สี หรือดอกบัว 9 ดอก และดอกมะลิร่วง (เด็ดก้านดอก) 1 กำ ธูปหอมอย่างดี 9 ดอก เทียน 9 เล่ม ควรใส่ชุดขาวจะทําให้จดจําอะไรได้ง่ายและจะจําขึ้นใจโดยอัศจรรย์ จากนั้นให้จุดธูป-เทียนบูชาพระรัตนตรัยโดยการตั้งนะโม 3 จบ ต่อด้วยบทพุทธคุณ ธรรมคุณ สังฆคุณ จากนั้นตั้งจิตนึกถึงสมเด็จโตฯ

คาถาชินบัญชร

(ตั้งนะโม 3 จบ)

ปุตตะกาโม ละเภ ปุตตัง ธะนะกาโม ละเภ ธะนัง

อัตถิกาเย กายญายะ เทวานัง ปิยะตัง สุตต๎วา.

อิติปิ โส ภควา ยะมะราชาโน ท้าวเวสสุวัณโณ

มะระณัง สุขัง อะระหัง สุคะโต นะโม พุทธายะ.

(๑) ชะยาสะนากะตา พุทธา เชตะวา มารัง สะวาหะนัง

จะตุสัจจาสะภัง ระสัง เย ปิวิงสุ นะราสะภา

(๒) ตังหังกะราทะโย พุทธา อัฏฐะวีสะติ นายะกา

สัพเพ ปะติฏฐิตา มัยหัง มัตถะเก เต มุนิสสะรา

(๓) สีเส ปะติฏฐิโต มัยหัง พุทโธ ธัมโม ทะวิโลจะเน

 สังโฆ ปะติฏฐิโต มัยหัง อุเร สัพพะคุณากะโร

(๔) หะทะเย เม อะนุรุทโธ สารีปุตโต จะ ทักขิเณ

โกณฑัญโญ ปิฏฐิภาคัส๎มิง    โมคคัลลาโน จ วามะเก

(๕) ทักขิเณ สะวะเน มัยหัง อาสุง อานันทะราหุโล

กัสสะโป จะ มะหานาโม อุภาสุง วามะโสตะเก

(๖) เกสันเต ปิฏฐิภาคัส๎มิง สุริโยวะ ปะภังกะโร

นิสินโน สิริสัมปันโน โสภิโต มุนิปุงคะโว

(๗) กุมารกัสสะโป เถโร    มะเหสี จิตตะวาทะโก

โส มัยหัง วะทะเน นิจจัง ปะติฏฐาสิ คุณากะโร

(๘) ปุณโณ อังคุลิมาโล จะ อุปาลีนันทะสีวะลี

เถรา ปัญจะ อิเม ชาตา    นะลาเฏ ติละกา มะมะ

(๙) เสสาสีติ มะหาเถรา วิชิตา ชินะสาวะกา

เอเตสีติ มะหาเถรา ชิตะวันโต ชิโนระสา

ชะลันตา สีละเตเชนะ อังคะมังเคสุ สัณฐิตา

(๑๐) ระตะนัง ปุระโต อาสิ ทักขิเณ เมตตะสุตตะกัง

ธะชัคคัง ปัจฉะโต อาสิ วาเม อังคุลิมาละกัง

(๑๑) ขันธะโมระปะริตตัญจะ อาฏานาฏิยะสุตตะกัง

อากาเส ฉะทะนัง อาสิ เสสา ปาการะสัณฐิตา

(๑๒) ชินานา วะระสังยุตตา สัตตัปปาการะลังกะตา

วาตะปิตตาทิสัญชาตา พาหิรัชฌัตตุปัททะวา

(๑๓) อะเสสา วินะยัง ยันตุ อะนันตะชินะเตชะสา

วะสะโต เม สะกิจเจนะ สะทา สัมพุทธะปัญชะเร

(๑๔) ชินะปัญชะระมัชฌัมหิ วิหะรันตัง มะหีตะเล

สะทา ปาเลนตุ มัง สัพเพ เต มะหาปุริสาสะภา

(๑๕) อิจเจวะมันโต สุคุตโต สุรักโข

ชินานุภาเวนะ ชิตุปัททะโว

ธัมมานุภาเวนะ ชิตาริสังโฆ

สังฆานุภาเวนะ ชิตันตะราโย

สัทธัมมานุภาวะปาลิโต จะรามิ ชินปัญชะเรติ.

พระคาถาชินบัญชร บทย่อ

ชิ นะ ปัญ ชะ ระ ปะ ริ ตัง มัง รัก ขะ ตุ สัพ พะ ทา (ภาวนา 10 จบ)

คาถาชินบัญชร คาถาเกราะเพชร ป้องกันภยันตรายทั้งปวง

ภาพจาก : Sarunyu L / Shutterstock.com

ความหมายของคาถาชินบัญชร

          ชินบัญชร มาจากคำว่า ชิน ซึ่งแปลว่า คนชนะ อันหมายถึงพระชินเจ้าหรือพระพุทธเจ้า และคำว่า บัญชร ซึ่งแปลว่า กรง ลูกกรง ซี่กรง รวมกันเป็นชินบัญชร ซึ่งถ้าแปลความหมายโดยรวมของคาถาจะมีแต่สิ่งที่เป็นสิริมงคลแก่ผู้เจริญภาวนา
          พระคาถานี้เป็นการอัญเชิญพระพุทธานุภาพแห่งพระศาสดาและพระปัจเจกพุทธเจ้าที่ได้ตรัสรู้มาก่อนหน้านั้นแล้ว ทั้งได้อัญเชิญเอาพระสูตรต่าง ๆ ที่เป็นพระพุทธมนต์อันวิเศษแต่ละสูตรมารวมกัน สอดคล้อง เป็นกําแพงแก้วคุ้มกัน ตั้งแต่กระหม่อมจอมขวัญของผู้ภาวนาลงมาจนล้อมรอบตัว กระทั่งหาช่องให้อันตรายแทรกเข้ามาไม่ได้

พุทธคุณของคาถาชินบัญชร

          จากความหมายอันเป็นมงคลของคาถาบทนี้ ทำให้เชื่อว่าผู้ใดสวดเป็นประจําจะทําให้เกิดความเป็นสิริมงคล สมบูรณ์พูนผล ศัตรูหมู่พาลไม่กล้ำกราย ไปทางไหนย่อมเกิดเมตตามหานิยม เกิดลาภผลพูนทวี ขจัดภัยจากภูตผีปีศาจ ตลอดจนคุณไสยต่าง ๆ และสามารถใช้สวดเพื่อทําน้ำมนต์รดแก้วิกลจริต แก้สรรพโรคภัยต่าง ๆ ให้หมดสิ้นไป นอกจากนี้ยังเป็นสิริมงคลแก่ชีวิต มีคุณานุภาพตามที่ปรารถนา หากสวด 10 จบ หรือทุกค่ำเช้า และอธิษฐาน จะสัมฤทธิผลได้ดังที่ใจปรารถนาทุกประการ

คาถาชินบัญชร คาถาเกราะเพชร ป้องกันภยันตรายทั้งปวง

          คาถาชินบัญชรถือว่าเป็นคาถาศักดิ์สิทธิ์และสร้างสิริมงคลอย่างยิ่ง จึงเป็นที่นิยมในพิธีมงคลต่าง ๆ ใครที่อยากเริ่มต้นสวดมนต์แต่ไม่ทราบว่าจะสวดบทไหนดี ก็เลือกคาถานี้สวดเป็นประจำได้

ขอบคุณข้อมูลจาก : wikipedia.org, pbs.mcu.ac.th, summacheeva.org

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
คาถาชินบัญชร คาถาเกราะเพชร ป้องกันภยันตรายทั้งปวง อัปเดตล่าสุด 20 กุมภาพันธ์ 2568 เวลา 15:20:48 9,825 อ่าน
TOP
x close