ประวัติพญายมราช หรือ ท่านยม
พญายมราช คือเทพเจ้าแห่งนรกและความตาย ที่ปรากฏในหลักความเชื่อของหลายวัฒนธรรม โดยตำนานตามศาสนาของอินเดียมีอยู่ว่า “ยมราช” เป็นบุตรของพระอาทิตย์กับพระนางศรัณยา มีชื่อเดิมว่า ยม เป็นเทพแห่งความตาย ปกครองยมโลกและนรก ทำหน้าที่พิพากษาอย่างเป็นธรรมและมอบผลกรรมแก่วิญญาณของสัตว์และมนุษย์ คำตัดสินของพญายมเป็นการชี้ขาดโทษหนัก โทษเบา จะต้องชดใช้กรรมในนรกหรือได้ขึ้นสวรรค์ พระยมมีอาวุธวิเศษคือบ่วงยมบาศ และกระบองยมทัณฑ์ ที่สามารถมอบความตายให้แก่ทุกสรรพชีวิต
บางตำนานเล่าว่า พระยมเป็นมนุษย์คนแรกบนโลกที่ตายไปจากโลก ได้รับรู้เรื่องราวหลังความตาย จึงได้ทำหน้าที่เป็นผู้ควบคุมวิญญาณทั้งหลาย และถ่ายทอดวิชาความรู้ให้แก่ฤๅษีนจิเกตัส อีกตำนานก็กล่าวว่า พระยมเคยเกิดเป็นกษัตริย์กรุงโกศัมพี แคว้นไวศาลี ทรงฝักใฝ่ในการทำสงคราม ก่อนตายทรงอธิษฐานให้ได้เกิดเป็นเจ้านรก เมื่อตายแล้วจึงได้มาเกิดเป็นพระยม แต่ยังต้องรับกรรมโดยการดื่มน้ำทองแดงวันละ 3 เวลา เมื่อสิ้นกรรมแล้วจะได้เกิดใหม่เป็นท้าวสมันตราช พระยมเป็นสาวกเอกของทั้งพระศิวะและพระวิษณุ ทั้งยังมีอีกหลายพระนาม เช่น ธรรมราช พระกาล พระมัจจุราช พระมฤตยูราช พระภัยโลจนะ
สำหรับศาสนาพุทธฝ่ายเถรวาท ถือว่าพระยมมีชาติกำเนิดเป็นเทวดาในชั้นจาตุมหาราชิกา อยู่ใต้ปกครองของท้าวทตรถ หนึ่งในผู้ปกครองสวรรค์ พระยมมิใช่แค่ชื่อเทพเจ้า แต่เป็นตำแหน่ง อันได้แก่ พระยมในมหานรก 32 พระองค์ พระยมในยมโลกียนรก 320 พระองค์ และพระยมองค์ประธานในยมโลกอีก 1 พระองค์ รวมแล้วมีพระยมทั้งสิ้นถึง 353 พระองค์
ลักษณะของพญายมราช
พระยมเป็นเทพบุรุษมีกายสีแดงดั่งแสงแรกแห่งดวงอาทิตย์ มือหนึ่งทรงบ่วงบาศ อีกมือหนึ่งถือกระบองยมทัณฑ์ สวมอาภรณ์สีแดงและสีดำ ทรงเครื่องประดับทองคำและทองแดง ประทับนั่งบนดอกบัว ทรงกระบือเป็นพาหนะ บ้างก็ว่าท่านมีรูปร่างใหญ่โต นัยน์ตาสีแดง หากจ้องมองสิ่งใดด้วยความโกรธ สิ่งนั้นจะวินาศ
ทั้งนี้ พญายมราชมีบริวารที่คนไทยรู้จักดี ได้แก่ พระกาฬไชยศรี เทพผู้ส่งสารแห่งความตาย ซึ่งมีรูปปั้นอยู่ที่ศาลเจ้าพ่อหลักเมือง กรุงเทพมหานคร ทำหน้าที่เก็บดวงวิญญาณต่าง ๆ บ้านไหนที่จะมีคนตาย พระองค์จะทรงใช้นกแสกบ้าง นกเค้าแมวบ้าง ไปเกาะหลังคา ร้องเตือนให้ทราบล่วงหน้า หรือบันดาลนิมิตดีร้าย หากผู้นั้นมีปัญญาจะได้รีบขวนขวายทำบุญ ก่อนจะหมดโอกาสในโลก ส่วนในขณะทรงทำหน้าที่พิพากษา ท่านจะมีผู้ช่วยบันทึกกรรมของแต่ละดวงวิญญาณ ได้แก่ สุวัณ ผู้จดการกระทำความดีใส่สมุดทองคำ และ สุวาณ ผู้จดการกระทำชั่วใส่สมุดหนังหมา
นอกจากนี้พระองค์ยังมีบริวารเรียกว่าเหล่ายมทูต ยมบาล ซึ่งทำหน้าที่พาดวงวิญญาณคนตายมาให้พระองค์ที่ยมโลกและลงโทษทรมานสัตว์นรกตามคำสั่งของพระยมอีกทีหนึ่งด้วย
พญายมราชกับท้าวเวสสุวรรณ เป็นองค์เดียวกันหรือไม่
การบูชาองค์พญายม
การเคารพบูชาพญายมราช มีไว้เพื่อให้พิจารณาการกระทำของตัวเราเอง ว่าเป็นทางบุญหรือบาปในระหว่างช่วงชีวิตที่ยังมีอยู่ นอกจากนี้การสวดคาถาพญายมยังเป็นสิริมงคลในด้านการต่ออายุให้ยาวนาน ห่างไกลจากโรคภัยไข้เจ็บ ภูติผีปีศาจไม่กล้าระราน หากรับราชการหรือทำมาค้าขายด้วยความซื่อตรงก็จะบังเกิดความเจริญมีความสุขในชีวิตยิ่ง ๆ ขึ้นไป
การบูชาและการสวดคาถาพญายมให้จัดหารูปภาพของพญายมมาตั้งไว้ บูชาในตอนเช้าโดย
- จุดธูป
- ข้าวตอกดอกไม้ โดยเฉพาะดอกไม้สีแดง
- พวงมาลัยดาวเรือง
- ข้าวสวย
- อาหารคาว 2-3 อย่าง
- นม เนย ขนมหวาน
- ผลไม้ 3-5 อย่าง (ที่ควรถวาย ได้แก่ กล้วยสุก อ้อยและมะพร้าวอ่อน)
- ธงสีแดง 7 ผืน ผ้าแพรสีแดง 3 ผืน
- ตุ๊กตารูปปั้นนกแสกหรือควาย
คาถาบูชาพญายมราช
ตั้งนะโม 3 จบ แล้วสวดว่า
“ปะโตเมตัง ปะระชีวินัง สุขะโตจุตติ จิตตะเมตะ นิพพานัง สุขะโตจุติ”
สามารถสวดภาวนาบูชาบทนี้โดยไม่ต้องใช้ธูปได้ เเต่ถ้าต้องการไหว้บูชาแบบใช้ธูป หรือเพื่อถวายของไหว้ ให้จุดธูปดำ 2 ดอก
- สวด 2 จบ ขับไล่คุณไสย ภูติผี วิญญาณติดตาม
- สวด 5 จบ ไหว้เพื่อทำบุญให้คนตาย
- สวด 7 จบ ขอเรื่องสุขภาพ รอดจากภาวะป่วยหนัก แคล้วคลาดเภทภัย อุบัติเหตุ
- สวด 8 จบ ขอโชคลาภ เงินทอง ร่ำรวย ค้าขาย
- สวด 9 จบ ขอความก้าวหน้า ความสำเร็จ
- สวด 11 จบ ขอให้ช่วยแก้ของ คุณไสย
- สวด 39 จบ บน หรือขอความช่วยเหลือเร่งด่วน
คาถาขอพรพญายมราช แบบที่ 1
“ปุตตะกาโม ละเภปุตตัง ธะนะกาโม ละเภธานัง อัตถิกาเยกา ยายะ เทวานัง สัตถังสุตตะวา
อิติปิโส ภะคะวา ยะมะ ราชาโน ท้าวเวสสุวรรณโณ มรณังสุขัง อะระหังสุขะโต นะโมพุทธายะ”
คาถาขอพรพญายมราช แบบที่ 2
“โอม พะยามะราชะ อุปาทะวะตายะ มะหิสสะ พาหะนายะ ทักขิณะทิสะ
ฐิตายะ อาคัจฉัญภุญชะตุ ขิปปะยะตุ วิปปะยะตุ สะวาหะ สะวาหายะ
สัพพะ อุปาทะวะ วินาสายะ สัพพะ อันตะรายะ วินาสายะ สุขะวัฑฒะโก โหตุ
อายุ วรรณะ สุขะ พะลัง อัมหากัง รักขันตุ สะวาหะ สะวาหายะ”
พญายมราช ไหว้ที่ไหน
- พญายมราช วัดบัวขวัญ พระอารามหลวง ถ.งามวงศ์วาน อ.เมืองนนทบุรี จ.นนทบุรี
- พญายมราช วัดไผ่เหลือง ต.บางม่วง อ.บางใหญ่ จ.นนทบุรี
- พญายมราช วัดไผ่ล้อม ต.พระปฐมเจดีย์ อ.เมือง จ.นครปฐม
- วิมานเสด็จเจ้าปู่ท้าวพญายมราช วัดชัยสิทธาวาส ต.กระแชง อ.สามโคก จ. ปทุมธานี
- ศาลพญายม สวนเฉลิมพระเกียรติ ร.9 ริมหาดบางพระ ต.บางพระ อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี เป็นแหล่งสืบสานงานประเพณีบูชาพญายม ซึ่งมีมากว่า 100 ปี โดยจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 17-18 เมษายน หลังสิ้นสุดเทศกาลสงกรานต์ประจำปี
เรื่องราวของพญายมราชเป็นความเชื่อส่วนบุคคลที่อยู่คู่กับคนไทยมายาวนาน จึงมีการเคารพและบูชาด้วยหวังว่าท่านยมจะเมตตา ประทานพรให้ แต่อย่าลืมว่าสิ่งสำคัญกว่านั้นคือการกระทำความดีในขณะที่มีชีวิตอยู่ เพราะนั่นคือหลักตัดสินว่าสุดท้ายแล้วชีวิตหลังความตายของเราจะเป็นสุขหรือทุกข์ทรมานกับผลของกรรม