วิธีตั้งชื่อลูก ควรตั้งอย่างไรดีนะ ? คุณพ่อคุณแม่มือใหม่ควรรู้

          วิธีตั้งชื่อลูก ควรตั้งอย่างไร เพื่อให้ไพเราะ เหมาะสม และเป็นมงคล วันนี้กระปุกดอทคอมมีวิธีดี ๆ สำหรับตั้งชื่อลูกจาก อ.วรันณ์ธร กระจ่าง มาฝากกันค่ะ

ตั้งชื่อลูก

          แค่ตั้งชื่อลูกเท่านี้ ฟังดูง่าย แต่บางครอบครัวใช้เวลาแรมเดือน แรมปี ทีเดียวนะคะ กว่าจะเลือกชื่อลูกได้ถูกใจแต่บางครอบครัวก็เพียงแค่นำชื่อคุณพ่อมาผสมกับชื่อคุณแม่ ถ้าสมาสชน สนธิเชื่อมแล้วออกมาดูดี ก็ตั้งชื่อให้ลูกได้เลย... 

           ไม่ว่าจะคุณแม่จะใช้วิธีใดในการตั้งชื่อลูก เช่น ตั้งกันเอง, พระตั้งให้, ญาติผู้ใหญ่ตั้งให้, หรือเปิดตำราว่าด้วยการตั้งชื่อที่เป็นสิริมงคล ตัวพยัญชนะที่ให้คุณ ถูกโฉลก ก็ยังมีข้อที่น่าคิดบางประการที่น่าสนใจในการตั้งชื่อลูก มาให้พิจารณา เราติดตามกันดีไหมคะว่า น่าคำนึงถึงเรื่องใดกันบ้าง...


ข้อควรพิจารณาในการตั้งชื่อลูก นอกเหนือจากการตั้งชื่อตามตำรา

ควรคำนึงว่าเมื่อตั้งชื่อให้ลูก ลูกจะต้องใช้ชื่อนี้ต่อไปในอนาคต

          จริงอยู่ หากลูกไม่ถูกใจก็สามารถเปลี่ยนชื่อได้เอง เมื่อเติบโตขึ้น แต่กว่าจะทำเช่นนั้นได้ ลูกก็ต้องใช้ชื่อนี้ไปอย่างน้อย 10-18 ปี บางชื่ออาจดูน่ารักเมื่อยังเป็นเด็ก แต่ถ้าเป็นหนุ่มเป็นสาว หรือเป็นผู้ใหญ่แล้ว ชื่อนี้จะยังเรียกได้ไม่ตะขิดตะขวงใจใช่ไหม ? (คุณคงไม่อยากให้ชื่อลูกไปอยู่ในเมล์ที่เค้าฟอร์เวิร์ดกันต่อๆ ไปเกี่ยวกับคนชื่อแปลก หรอกนะ) เช่น ชื่อ หนุ่มน้อย (ฟังดูน่ารัก เมื่ออายุ 4 ขวบ แต่ถ้าอายุ 45 ปีล่ะ) 

ชื่อมีหลายพยางค์เกินไปหรือเปล่า ?

          บางครั้งชื่อที่ยาวเกินไปก็ดูดี แต่ถ้าประกอบกับนามสกุลก็ยาวเฟื้อยด้วยแล้ว ลูกคุณคงอยากตัดบางพยางค์ออกจากชื่อบ้างเป็นแน่แท้ ยิ่งไม่ต้องคิดเลย เมื่อลูกคุณไปเรียนต่อเมืองนอก เมื่อไหร่ที่ครูเรียกชื่อนักเรียนอยู่ดี ๆ แล้วจู่ ๆ ก็หยุด เพ่งมองกระดาษในมืออีกครั้ง แล้วเริ่มออกเสียงตะกุกตะกัก... อย่ารอช้า รีบบอกลูกให้ขานรับทันที นั่นแหละ อาจารย์ฝรั่งกำลังเรียกชื่อลูกคุณ ถูกแล้วค่ะ เช่น กุสุมาลย์วลัย พัชราพฤกษานนท์ (ชื่อสมมุติ หากพ้องกับท่านใด ต้องขออภัยด้วยค่ะ) 

          ถ้านามสกุลยาว จะตั้งชื่อสั้น ไม่ควรเกินสองพยางค์ก็ดีค่ะ สะดวกดี ไม่มีปัญหาเวลากรอกชื่อใส่ช่องสี่เหลี่ยมจัตุรัสเวลากรอกใบสมัครทั้งหลาย แต่ถ้านามสกุลสั้น กระชับ จะตั้งชื่อยาวก็ได้ ไม่มีปัญหา เช่น วิลาสินี ใจงาม, อัญชลิกา ก่องแก้ว จากนั้นลองอ่านออกเสียงดูว่า คล้องจอง ไปกันได้ดีกับนามสกุลหรือเปล่า ทั้งชื่อและนามสกุลออกเสียงแล้วฟังดูรื่นหู เช่น คม อาจณรงค์ หรือ พลอย มุทิตาจิต

ตั้งชื่อลูก

อยากให้ลูกมีชื่อที่ฟังดูก็รู้ทันทีว่าเป็นผู้หญิง หรือ คมเข้ม ฟังแล้วรู้ว่า เด็กชายแน่นอน เช่น 

          ชื่อออกแนว ผู้หญิ๊งผู้หญิง - เด่นนภา, พลอยรัมภา, เพียงนภา, สร้อยฉัตร

          ชื่อออกแนว ผู้ชายมาดแมน - คม, กล้า, กาจฤทธี, อธิคม, เชิงชาย อย่างนี้ไม่มีปัญหา ฟังดูดี แต่ถ้าชื่อออกแนวหวาน แต่เป็นเด็กผู้ชาย ลูกคุณอาจมีปัญหาในหมู่เพื่อน โดยเฉพาะเมื่อย่างเข้าสู่วัยรุ่น เช่น เด็กชาย อนัญฤดี (ในกรณีที่อาจเป็นหลานชายคนแรกของคุณปู่ แล้วคุณปู่ชื่อ อนัญ จึงอยากได้ชื่อ ที่แสดงความเป็นขวัญใจของคุณปู่) หรือ เด็กหญิง สมเกียรติ (ซึ่งคุณปู่คุณตา อาจต้องการให้หลานได้ชื่อว่า เกิดมาสมเกียรติยศ ก็ได้) ลองนึกถึงใจของลูกเมื่อโตขึ้นแล้วต้องใช้ชื่อที่เราตั้งให้ด้วยนะคะ

มีชื่อญาติผู้ใหญ่ คุณปู่ คุณย่า คุณตา คุณยาย ผู้มีพระคุณ ที่เราอยากให้ประสมอยู่ในชื่อหรือไม่

          เช่น บังอรภัค (คุณยาย ชื่อ บังอร) หรือประเพณีนิยมที่ว่า ถ้านามสกุลนี้จะต้องตั้งชื่อที่มีคำบางคำ อยู่ในชื่อของสมาชิกทุกคนในตระกูล เช่น จักรภพ จักรภัค ทองจักร จักรา จักรกฤช (ตระกูลนี้มีกฏว่าทุกคนต้องมีคำว่า "จักร" อยู่ในชื่อ) หรือ เพชรแท้, เพชรทิพย์ เพชรประดับ จักรเพชร เพชรพรรณี เฟื่องเพชร รวงเพชร พวงเพชร (ตระกูลนี้อาจต้องการให้ลูกหลานทุกคน มีคำว่า "เพชร" อยู่ในชื่อทุกคน) อย่างนี้เป็นต้น 

ชื่อสะกดแปลกไปจากปกตินิยมที่สะกดชื่อกันหรือไม่

          คนนอกครอบครัวจะไม่สามารถสะกดชื่อลูกคุณได้ถูกต้องในครั้งแรก ดังนั้น ลูกคุณจึงมีสิทธิ์ที่จะต้องสละเวลาสะกดชื่อให้คนอื่นฟังทุกครั้งเมื่อไป ติดต่อธุรการงานด้วย เช่น ชื่อ จรรณย์จิฬา (จันจิรา) หรือ ณรรต (ณัฐ)

ตั้งชื่อลูก

ใช้ชื่อพยางค์เดียวเป็นชื่อจริง

          ซึ่งคนมักเข้าใจผิดว่า เป็นชื่อเล่น เช่น พลอย มุทิตาจิต (คนมักจะถามกันว่า ชื่อจริงหรือชื่อเล่นคะ, หรือ เมื่อบอกไปแล้ว เจ้าหน้าที่อาจทำเสียงไม่พอใจ แล้วพูดตึง ๆ ว่า ขอชื่อจริงค่ะ คุณก็ต้องยืนยันกับเจ้าหน้าที่อีกครั้งว่า นี่แหละค่ะ ชื่อจริงค่ะ) ทีนี้พอลูกเข้าโรงเรียน อาจไปชนกับเพื่อนในห้องที่มีชื่อเล่นเดียวกับชื่อจริงลูกคุณก็ได้ ครูก็ต้องเรียกชื่อลูกคุณ พร้อมด้วยนามสกุล ติดไปด้วยทุกครั้ง ไม่ก็เรียกเบิ้ลชื่อลูกคุณ เช่น พลอย พลอย (ชื่อเล่น และชื่อจริง) ส่วนเด็กอีกคนที่มีชื่อเล่นว่า พลอย ครูก็เรียกว่า พลอย เฉยๆ

ความหมายของชื่อ

          ชื่อที่กำลังจะตั้งให้ลูกมีความหมายว่าอย่างไร โดยทั่วไปชื่อที่ตั้งมักมีความหมายที่ดี เป็นสิริมงคลต่อเจ้าของชื่ออยู่แล้ว ถ้าเป็นไปได้ ควรแน่ใจว่า ชื่อและคุณสมบัติของเจ้าของชื่อมีความเป็นไปได้ที่จะสอดคล้องกัน อย่าให้แตกต่างจนเกินไปนัก มิ ฉะนั้น ลูกอาจถูกล้อเลียนได้ เช่น ชื่อ วิลิศมาหรา


ขอขอบคุณข้อมูลจาก : อ.วรันณ์ธร กระจ่าง, Sudrak.com



เรื่องที่คุณอาจสนใจ
วิธีตั้งชื่อลูก ควรตั้งอย่างไรดีนะ ? คุณพ่อคุณแม่มือใหม่ควรรู้ อัปเดตล่าสุด 21 ธันวาคม 2564 เวลา 10:48:11 93,560 อ่าน
TOP
x close