เทศกาลคเณศจตุรถี คืออะไร เปิดความเป็นมา พร้อมวิธีบูชาพระพิฆเนศให้ชีวิตรุ่งเรือง

          เทศกาลคเณศจตุรถี คือเทศกาลอะไร มีความสำคัญอย่างไรบ้าง มาดูขั้นตอนการบูชาพระพิฆเนศและคาถาไหว้พระพิฆเนศกัน
พระพิฆเนศ

          ช่วงวันที่ 7 กันยายน 2567 เป็นวันสำคัญอย่างยิ่งของชาวฮินดู นั่นคือ เทศกาลคเณศจตุรถี เชื่อกันว่าช่วงวันนี้คือวันประสูติของพระพิฆเนศ โดยเป็นวันที่พระองค์จะเสด็จมาประทานพรให้มวลมนุษย์ จึงเหมาะสมที่สุดสำหรับการบูชาองค์พระพิฆเนศเพื่อให้ชีวิตรุ่งเรือง สำหรับหลายคนที่อยากทราบประวัติความเป็นมาของเทศกาลนี้ กระปุกดอทคอมก็มีเรื่องราวของเทศกาลคเณศจตุรถีมาฝาก พร้อมวิธีบูชาพระพิฆเนศในช่วงวันนี้เพื่อส่งเสริมให้ชีวิตยิ่งประสบความสำเร็จ

พระพิฆเนศ เป็นเทพเจ้าแห่งปัญญา ความสำเร็จ และการเริ่มต้นใหม่ ชาวฮินดูเชื่อว่าพระพิฆเนศสามารถช่วยประทานพรให้ประสบความสำเร็จในทุกด้านของชีวิต ทั้งด้านการเงิน ความรัก สุขภาพ และการทำงาน พระองค์ยังเป็นเทพประทับในไพ่เทวะมันตรา พยากรณ์ ซึ่งเป็นไพ่พยากรณ์ที่จะช่วยเปิดโลกพลังพิเศษแห่งดวงตาที่สาม ให้รับรู้โดยสัญชาตญาณ และตั้งจิตอธิษฐานเพื่อปลดล็อกความรู้สึกภายในเพื่อเปิดรับสิ่งดี ๆสำหรับผู้ที่ได้รับการทำนายได้

เทศกาลคเณศจตุรถี คืออะไร

          คเณศจตุรถี คือ พิธีสักการะพระคเณศ โดยถือว่าเป็นเทศกาลเฉลิมฉลองการประสูติของพระองค์ จตุรถี แปลว่า ลำดับที่ 4 ซึ่งหมายถึงวันขึ้น 4 ค่ำในเดือนภัทรบท หรือขึ้น 4 ค่ำ เดือน 10 ตามปฏิทินฮินดู ซึ่งอยู่ในช่วงราว ๆ กลางเดือนสิงหาคม และกันยายนของทุกปี

          ในพิธีนี้จะมีการปั้นเทวรูปพระคเณศขึ้นจากวัสดุธรรมชาติเช่นดินเหนียว หรือวัสดุอื่น ๆ จากนั้นจะสร้างมณฑปขึ้นเพื่อประดิษฐานเทวรูปดังกล่าว และเชิญพราหมณ์มาทำพิธี "ปราณประติษฐา" หรือการทำให้เทวรูปนั้นมีความศักดิ์สิทธิ์ขึ้นมา จากนั้นจะทำการบูชา 16 ขั้นตอนตามหลักศาสนาที่เรียกว่า โษทโศปจาร เช่น การสรงด้วยนม ด้วยน้ำผึ้ง การบูชาด้วยดอกไม้ และเครื่องบูชาต่าง ๆ ตามด้วยสวดมนต์ที่เรียกว่า "คเณศาถรวศีรษะ" หรือ คเณศอุปนิษัท ในคัมภีร์พระเวท และทำการบูชาด้วยประทีป หรือการอารตี เป็นขั้นตอนสุดท้าย

          การประดิษฐานพระคเณศจะเริ่มประดิษฐานไว้ตั้งแต่วันขึ้น 4 ค่ำไปจนถึงวันขึ้น 14 ค่ำ เป็นเวลาทั้งสิ้น 10 วัน ในทุก ๆ วันจะมีการชุมนุมกันสวดมนต์ และทำพิธีอารตีในเวลาค่ำ เมื่อถึงวันที่ 11 ที่เรียกว่า พิธีวิสรชัน หรือการส่งเทพเจ้ากลับเทวโลก ในวันนั้นจะมีการจัดขบวนแห่เทวรูปไปตามท้องถนน พร้อมด้วยการบรรเลงดนตรีและการเต้นรำอย่างสนุกสนาน โดยจะมีการร้องตะโกนถวายพระพรแด่พระคเณศ การแห่เทวรูปจะแห่ไปที่ทะเล หรือที่แหล่งน้ำที่อยู่ใกล้ และนำเทวรูปนั้นไปลอยลงในทะเลหรือแม่น้ำ เท่ากับได้ส่งพระคเณศกลับยังเทวโลก ซึ่งชาวอินเดียยังเชื่อว่าการที่เทวรูปนั้นสลายสู่สภาวะเดิมเป็นการแสดงสภาวะของธรรมชาติ และถือว่าทำให้เกิดความอุดมสมบูรณ์ต่อการเพาะปลูก เพราะแม่น้ำและดินจะได้รับพรจากองค์เทวรูปที่ได้ผ่านพิธีกรรมไปแล้วด้วย

พระพิฆเนศ

การบูชาพระพิฆเนศในเทศกาลคเณศจตุรถี

          แม้ว่าในประเทศไทยจะมีหลายสถานที่ที่จัดพิธีคเณศจตุรถี แต่สำหรับคนที่ไม่สะดวกเข้าร่วมพิธี ก็สามารถบูชาองค์พระพิฆเนศได้ด้วยตัวเอง โดยมีข้อปฏิบัติดังนี้

  1. ทำความสะอาดหิ้งพระ และห้องบูชา เพื่อเป็นการรับเสด็จการมาของพระองค์
     
  2. จัดโต๊ะบูชาเล็ก ๆ แยกจากหิ้งพระ ปูด้วยผ้าสีแดง หรือ สีส้มแล้วอัญเชิญเทวรูปพระพิฆเนศมาประทับไว้
     
  3. อาบน้ำชำระกายให้สะอาด
     
  4. อัญเชิญเทวรูปองค์พระพิฆเนศจากหิ้งบูชา โดยมักนิยมใช้ปางนั่งมากกว่า เพราะถือว่าพระองค์จะต้องมาประทับอยู่ที่บ้านเราถึง 10 วัน ถ้ายืนจะเมื่อย ซึ่งเป็นความเชื่อของชาวฮินดูในสมัยก่อน ส่วนปัจจุบันไม่เคร่งครัดขนาดนั้น สามารถใช้ปางไหนที่เหมาะสมก็ได้
     
  5. นำเทวรูปของพระพิฆเนศมาสรงน้ำ เช็ดทำความสะอาดด้วยผ้า โดยเทวรูปที่จะนำมาสรงน้ำควรเป็นโลหะหรือหิน ไม่ควรใช้เทวรูปที่เป็นไม้ ดิน หรือเทวรูปเขียนสีตกแต่งด้วยเพชรพลอย หรือปิดทอง เพราะจะทำให้เกิดความเสียหาย
     
  6. จัดเตรียมของไหว้ให้พร้อม ทั้ง ธูป กำยาน กระถางธูปหรือโถกำยาน/เทียน 2 เล่ม/ผลไม้มงคล แนะนำเป็นกล้วยหรือมะพร้าว/น้ำดื่มสะอาด/นม/ขนมหวาน รวมกันให้ได้ 5 ชนิดขึ้นไป/นำเมล็ดข้าวสาร เมล็ดถั่วชนิดต่าง ๆ จัดใส่จาน
     
  7. เตรียมดอกไม้สดสวย ๆ เช่น ดอกดาวเรือง ดอกกุหลาบ ดอกมะลิ ดอกบัว
     
  8. ถวายทุกอย่างพร้อมกัน แล้วสวดภาวนาด้วยบทมันตรา 9 จบ หรือ 108 จบ
     
  9. อธิษฐานขอพร

          ควรทำติดต่อกันเป็นเวลา 3, 5, 7, 9,11 วัน ตามแต่สะดวก โดยในวันสุดท้ายให้นำเทวรูปมาสรงน้ำอีกครั้ง ก่อนอัญเชิญขึ้นหิ้งตามเดิม

พระพิฆเนศ

คาถาไหว้พระพิฆเนศ หรือ บทมันตราบูชาพระพิฆเนศ

          “โอม ศรี คเณศายะ นะมะฮา” (สวด 9 หรือ 108 จบ) จากนั้นตั้งจิตอธิษฐานขอพร แล้วจบด้วย “โอม ศานติ ศานติ ศานติ”

          เมื่อทราบความเป็นมาของเทศกาลคเณศจตุรถีแล้ว ใครที่นับถือและบูชาพระพิฆเนศอยู่ อย่าลืมทำพิธีนี้ที่บ้าน ในวันที่ 7 กันยายน 2567 เพื่อเสริมสิริมงคลให้กับตัวเอง จะได้ทำการสิ่งใดก็สำเร็จสมความปรารถนา
 

ขอบคุณข้อมูลจาก : horoworld.com, เฟซบุ๊ก Hindu Meeting, mahamongkol.com, ganeshthulaka.com
เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เทศกาลคเณศจตุรถี คืออะไร เปิดความเป็นมา พร้อมวิธีบูชาพระพิฆเนศให้ชีวิตรุ่งเรือง อัปเดตล่าสุด 9 กันยายน 2567 เวลา 11:17:57 34,432 อ่าน
TOP
x close