"หมากดี ที่วัดหนัง ถ้าเบี้ยขลัง วัดนายโรง
ไม้ครู คู่วัดอินทร์ ส่วนมีดบิน วัดหนองโพ
พิสมร วัดพวงมาลัย ครั่งเหลือร้าย วัดโตนดหลวง
ราหู คู่วัดศีรษะ แหวนอักขระ วัดหนองบัว
ลูกแร่ ที่วัดบางไผ่ ฤทธิ์เหลือร้ายหาใดปาน
เก้าสิ่งล้วนเป็นมงคล ทั่วทุกคนควรค้นหา
ติดกายยามยาตรา ภัยมิกล้ามาแผ้วพานฯ"
สำหรับ 9 เครื่องรางมหามงคลและทรงคุณค่าที่ควรมีไว้คู่กายเหล่านี้ ใครที่มีชิ้นใดชิ้นหนึ่งก็ว่าดีแล้ว ยิ่งหากมีครบนับว่าเป็นมงคลมากทีเดียว แต่กว่าจะมาเป็นเครื่องรางของขลังทรงคุณค่าที่ผู้คนนิยมและศรัทธามากเช่นนี้ ประวัติความเป็นมาก็เข้มข้นน่าสนใจไม่น้อย ตามไปรู้จักวัตถุมงคลทั้ง 9 ชิ้นนี้กัน
เครื่องราง 9 มงคล
ประวัติและพุทธคุณ
1. หมากทุย หลวงปู่เอี่ยม วัดหนัง
พระภาวนาโกศลเถร หรือ หลวงปู่เอี่ยม สุวณฺณสโร อดีตเจ้าอาวาสวัดหนังราชวรวิหาร เขตบางขุนเทียน กรุงเทพฯ ท่านเป็นพระอาจารย์ที่พระพุทธเจ้าหลวง รัชกาลที่ 5 ทรงให้ความนับถือเป็นอย่างสูง เดิมทีท่านเป็นพระอธิการธรรมดา ๆ ทว่าท่านมีอภินิหารในพระเครื่องรางมากมาย จนกระทั่งเล่าลือไปถึงพระบรมมหาราชวัง
- การสร้างหมากทุย หลวงปู่เอี่ยม
หมากที่นำมาปลุกเสกนั้นต้องมาจากต้นหมากตายพราย ซึ่งหมายถึงต้นไม้ที่ยืนต้นตายทั้ง ๆ ที่ผืนดินก็สมบูรณ์ดี ไม่มีวี่แววของโรค ซึ่งชิ้นส่วนของไม้เหล่านี้นำมาทำเครื่องรางของขลังได้ โดยลูกหมากที่ว่านี้ต้องมีลักษณะอ่อน ขนาดเล็กพอเหมาะ ส่วนการจะขึ้นไปนั้นท่านจะสอนคาถาภาวนาให้ เมื่อได้ลูกหมากตายพรายมาแล้วก็เปิดจุกด้านบน คว้านเอาเนื้อหมากด้านในออกให้หมด จากนั้นจึงเอาเม็ดพระธาตุบรรจุไปด้านในแทน เอาชันโรงใต้ดินมาอุดปิดทับด้านบนให้แน่น เพื่อป้องกันความชื้นและแมลง แล้วปลุกเสกกำกับด้วยพลังจิต จนลูกหมากนั้นลุกขึ้นตั้งได้เอง จึงถอนจิตแล้วนำไปถักเชือกหุ้มอีกชั้นหนึ่ง ลงรักเคลือบผิว ทำห่วงด้านบนใช้สำหรับคล้องคอ
- พุทธคุณ หมากทุย หลวงปู่เอี่ยม
หมากทุยของท่านนั้นถือเป็นเครื่องรางที่บรรดาเซียนพระทั้งวงการต่างเสาะหา อานุภาพกล่าวไว้ว่า เมื่อนำติดตัวจะช่วยป้องกันทางด้านมหาอุด คงกระพัน แคล้วคลาด และยังป้องกันภูตผีปีศาจ เมื่อมีสิ่งนี้พยายามหมั่นปลูกเสกกำกับด้วยคาถาพระเจ้า 5 พระองค์ ว่า "นะโมพุทธายะ" อยู่เสมอ ๆ
2. เบี้ยแก้ หลวงปู่รอด วัดนายโรง
วัดนายโรง เป็นวัดเก่าแก่สร้างในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ตั้งอยู่ที่ตำบลบางบำหรุ เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ โดยมีหลวงปู่รอดเป็นเกจิอาจารย์ดังที่ใคร ๆ ต่างให้ความเคารพนับถือ ในมวลหมู่ลูกศิษย์ลูกหานั้นกล่าวกันว่า หลวงปู่ท่านได้ไปศึกษากับหลวงปู่แขกแห่งวัดบางบำหรุ ในด้านวัตถุมงคลที่ท่านสร้างส่วนใหญ่จะเป็นเครื่องรางประเภทตะกรุด ผ้าประเจียด ผ้ายันต์ และที่สำคัญคือ เบี้ยแก้
- การสร้างเบี้ยแก้ หลวงปู่รอด
กรรมวิธีในการสร้างเบี้ยแก้ สิ่งแรกที่ต้องหามาคือตัวเบี้ย ซึ่งผ่านการคัดสรรตัวเบี้ยที่มีอาการครบ 32 กล่าวคือ ถ้าหงายท้องเบี้ยจะพบว่าใต้ท้องเบี้ยจะมีร่องปาก ซึ่งมีลักษณะเหมือนฟันซี่เล็ก ๆ อยู่ นับให้ได้ข้างละ 16 ซี่ จึงจะครบตามตำรา นอกจากนั้นแล้วหลังเบี้ยจะต้องมีเส้นนะปัดตลอดวิ่งตัดผ่านจากหัวเบี้ยไปท้ายเบี้ยอีกด้วย วัสดุที่สำคัญอีกอย่างที่ใช้บรรจุเข้าไปในเบี้ยก็คือปรอท โลหะเหลวสีขาวแวววาว ที่มีความวิเศษในตัว หลวงปู่ท่านจะใช้เวลาในช่วงค่ำทำพิธีปลุกเสกลงอาคมที่ตัวปรอท จนกระทั่งเคลื่อนไหวไป-มาได้ โดยเรียกปรอทให้ไหลไปบรรจุในตัวเบี้ย แล้วนำชันโรงที่ทำขึ้นเฉพาะมาอุดที่ปากท้องเบี้ย จากนั้นหุ้มด้วยตะกั่วอีกชั้นหนึ่ง เป็นอันเสร็จพิธี หากใครต้องการไปบูชาก็จะให้พระในวัดช่วยถักเชือกปิดตัวเบี้ยให้ เพื่อความสะดวกในการพกติดตัว
- พุทธคุณ เบี้ยแก้ หลวงปู่รอด
เบี้ยแก้ เป็นเครื่องรางของขลังที่เรียกได้ว่าครบทุกด้าน ทั้งใช้ป้องกันภยันตรายต่าง ๆ กันคุณไสย กันของต่ำที่ถูกคนทำใส่ อาราธนาทำน้ำมนต์ แก้ยาสั่งหรือแม้แต่ผีเข้า นอกจากนั้นยังสามารถบูชาติดตัว เพื่อขอพุทธคุณช่วยให้ร้ายกลายเป็นดี แคล้วคลาดคงกระพันอีกด้วย
3. ตะกรุดไม้ครู หลวงปู่ภู วัดอินทร์
พระครูธรรมานุกูล (ภู จันทเกสโร) เจ้าอาวาสวัดอินทรวิหาร เขตพระนคร กรุงเทพฯ ถือเป็นศิษย์เอกผู้ใกล้ชิดสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) ที่ได้รับการถ่ายทอดเคล็ดวิชาอาคมมากมาย ท่านมีเมตตาธรรมสูงหยั่งรู้อนาคตและอดีต และถือธุดงค์เป็นกิจวัตร วัตถุมงคลที่มีชื่อเสียงของท่าน คือ ไม้เท้าพ่อครู และพระพิมพ์สมเด็จต่าง ๆ ซึ่งมีพุทธคุณเปี่ยมล้นและได้รับความนิยมสูง
- การสร้างตะกรุดไม้ครู หลวงปู่ภู
ในกระบวนการสร้างวัตถุมงคลของหลวงปู่ภู ต้องเป็นผู้ที่มีบุญวาสนาเท่านั้นถึงจะเรียนสำเร็จ ทั้งนี้ ไม้เท้าพ่อครูเป็นวัตถุอาถรรพณ์ ก่อนที่จะทำจะต้องหาไม้ไผ่สีสุกที่ถูกฟ้าผ่าล้มและปลายทอดยาวไปทางทิศตะวันออกทั้งกอ และต้องนั่งเฝ้าดูภายใน 7 วัน ถ้ามีช้างโขลงมาพบกอไผ่สีสุก แล้วข้ามกอไผ่ไปทั้งโขลง ถือว่าเป็นนิมิตมหามงคลจึงจะใช้ได้ ก่อนจะตัดไม้นั้น หลวงปู่ต้องประกอบพิธีพลีกรรม บอกกล่าวเทพยดา พระอิศวรเจ้า เจ้าที่เจ้าทาง โดยขอตัดไม้ไผ่ลำเอาส่วนปลายเพียง 3 ปล้องเท่านั้น เมื่อได้ไม้ไผ่มาแล้ว ท่านก็นำมาจิ้มบนศพที่กล้าแข็ง คือ ศพคนตายวันเสาร์ เผาวันอังคาร ให้ครบ 7 ศพ ซึ่งใช้ระยะเวลาในการเดินธุดงค์ถึง 30 ปี ท่านจึงทำได้สำเร็จ จากนั้นท่านก็จะนำไม้ท่อนนี้มาผ่าให้เป็นแผ่นเล็ก ๆ เรียกว่า ตอก ไว้สำหรับลงพระนามที่ได้รับจากเบื้องบน อุดด้วยผงพุทธคุณ บางอันอาจจะบรรจุกระดูกแร้งลงไปด้วย อุดทับด้วยชันโรงใต้ดิน ตอกด้วยลิ่มไม้ปิดเอาไว้ แล้วลงอักขระทับอีกทีเป็นอันเสร็จพิธี
- พุทธคุณ ตะกรุดไม้ครู หลวงปู่ภู
ไม้ครูนี้ถือเป็นยอดไม้ครู ที่จัดอยู่ในชุดเครื่องรางมงคล 9 สะท้านแผ่นดิน "ชี้ต้นตาย ชี้ปลายเป็น" สามารถใช้ป้องกันตัวเมื่อยามคับขัน ป้องกันโจรผู้ร้าย คุณไสย และภูติผีปีศาจไม่กล้ากล้ำกลาย ซึ่งผู้ที่ถือครองต่างก็เห็นเป็นประจักษ์กันมานักต่อนัก เวลาใช้ให้ท่องคาถา นะโม (3 จบ)
"พุทธัง สะระนัง คัจฉามิ ธัมมังสะระนัง คัจฉามิ สังฆังสะระนัง คัจฉามิ
ฆะเตสิ ฆะเตสิ กิงกะระฉัง อะหังปิตัง ชานามิ ชานามิ สี่คนเดินหน้า ห้าคนเดินหลัง โอมกะรัง กะรัง" (3 จบ)
4. มีดหมอ (มีดบิน) หลวงพ่อเดิม วัดหนองโพธิ์
หลวงพ่อเดิม พุทธสโร หรือ พระครูนิวาสธรรมขันธ์ อดีตเจ้าอาวาสวัดหนองโพ ตำบลหนองโพ อำเภอตาคลี จังหวัดนครสวรรค์ เป็นพระเกจิอาจารย์ผู้แก่กล้าในไสยเวทย์อีกท่านหนึ่งที่โด่งดังมาก ท่านได้สร้างวัตถุมงคลและเครื่องรางของขลังไว้หลายอย่าง เช่น พระรูปเหมือน เหรียญ หม้อน้ำมนต์ เสื้อยันต์ แหวน และมีดหมอ
- การสร้างมีดหมอ หลวงพ่อเดิม
มีดหมอของหลวงพ่อเดิมมีกรรมวิธีการสร้างที่พิถีพิถันทุกขั้นตอน ในยุคแรกนั้นใช้ส่วนผสมของตะปูสังฆวานร ตะปูโลงผี เหล็กน้ำพี้ มาหลอมรวมแล้วตีเป็นตัวมีด ซึ่งต่อมาในยุคหลังอาจใช้เพียงเหล็กกล้าอย่างเดียวเท่านั้น แต่ก็ไม่ได้ทำให้ฤทธิ์แห่งมัดเทพศาสตราลดน้อยลงเลย หลังจากนำไปให้ช่างตีมีดทำใบมีด ทำด้ามและฝัก รวมถึงทำที่รัดปลอกมีดเรียบร้อยแล้ว จะนำมาประกอบที่วัดหนองโพ โดยหลวงพ่อเดิมจะทำผงอิทธิเจที่ผสมเกศาของท่านที่ปลงไว้ในวันขึ้น 15 ค่ำ และนำแผ่นตะกรุดที่ลงอักขระ ทำจากเงิน ทอง นาก บรรจุลงในด้ามมีด อุดด้วยครั่งจนแน่น เมื่อเสร็จเรียบร้อยแล้วจะนำไปปลุกเสกอีกครั้งหนึ่ง
- พุทธคุณ มีดหมอ หลวงพ่อเดิม
มีดหมอของหลวงพ่อเดิมนั้นดีในทุกเรื่อง เช่น เป็นมหาอุดอยู่ยงคงกระพัน แคล้วคลาดปลอดภัย ป้องกันอสรพิษเขี้ยวงา ป้องกันคุณไสย การกระทำย่ำยี ป้องกันภูติผีปีศาจร้าย รวมทั้งเสริมบารมีเป็นมหามงคลแก่ผู้ที่มีไว้บูชาอีกด้วย วิธีอาราธนามีดหมอ เวลาจะไปไหนมาไหนให้ระลึกถึงหลวงพ่อเดิม แล้วว่า "พระพุทธังรักษา พระธัมมังรักษา พระสังฆังรักษา ศัตรูมาบีฑาวินาศสันติ" เท่านี้ก็พอ ส่วนข้อห้ามประจำมีดหมอนั้นคือห้ามฆ่าสัตว์ตัดชีวิต นอกจากจะป้องกันตัวเท่านั้น และห้ามนำมีดของท่านไปใช้ในทางที่ผิด ถ้าไม่จำเป็นอย่าให้สตรีที่มีรอบเดือนถูกมีดหมอ ปัจจุบันมีดหมอหลวงพ่อเดิมของแท้หาได้ยากยิ่ง
5. ตะกรุดพิสมร หลวงพ่อแก้ว วัดพวงมาลัย
พระครูวินัยธรรม หรือ หลวงพ่อแก้ว พรหมสโร เป็นพระธุดงค์ที่มีความเชี่ยวชาญทางสายวิปัสสนากัมมัฏฐาน เชื่อกันว่าท่านสำเร็จญาณวิเศษ สามารถล่วงรู้เหตุการณ์ต่าง ๆ ได้ และขึ้นชื่อว่าเป็นเกจิอาจารย์ที่ยอดเยี่ยมของลุ่มน้ำแม่กลอง ประจำอยู่ที่วัดพวงมาลัย ตำบลแม่กลอง อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสงคราม วัตถุมงคลที่โด่งดังของท่าน ได้แก่ ตะกรุดที่ทำจากใบลาน รวมทั้งเหรียญ ผ้ายันต์ และลูกอม ปัจจุบันแต่ละอย่างล้วนมีราคาสูงมาก
- การสร้างตะกรุดพิสมร หลวงพ่อแก้ว
ตะกรุดของท่านจะเจาะจงใช้ใบลานที่นำมาจากต้นตาลยืนโดดเดี่ยว ซึ่งขึ้นอยู่ที่ปากคลองบางปืนเท่านั้น (ปัจจุบัน บ้านบางปืน อยู่ที่หมู่ 6 ตำบลนางตะเคียน อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสงคราม) เพราะชื่อ "บางปืน" กร่อนเป็นคำว่า "บังปืน" มีความหมายในการข่มนาม โดยใบลานที่ได้นี้จะต้องเป็นยอดใบลานเดือน 5 เป็นใบลานอ่อน ตากแห้งม้วนไม่แตก จากนั้นหลวงพ่อแก้วจะนำใบลานมาลงอักขระเลขยันต์ด้วยอักษรขอม อ่านได้ว่า "ภู ภิ ภู ภะ" ล้อมรอบด้วยตัว "มิ" ไว้ตรงกลาง แล้วปลุกเสกบรรจุเป็นตะกรุด
- พุทธคุณ ตะกรุดพิสมร หลวงพ่อแก้ว
ตะกรุดพิสมรใบลานบังปืนนั้นดีทางด้านมหาอุด อยู่ยงคงกระพันชาตรี แคล้วคลาดปลอดภัย กันปืนผาหน้าไม้เป็นเลิศ ตะกรุดของท่านมีประสบการณ์เลื่องลือ ว่ากันว่าแม้แต่เสด็จเตี่ย กรมหลวงชุมพรฯ ยังพกติดตัวตลอด สำหรับคาถาในการอาราธนาตะกรุด ให้ตั้งนะโม 3 จบ เอาตะกรุดจบที่หน้าผาก แล้วว่าคาถาดังนี้ "ภูภิ ภูภะ อะมิ อุทถัง อัดโธ นะโมพุทธายะ" เมื่อคาดเข้าติดตัว ให้ว่าคาถาเวลาผูกปมเชือก ดังนี้ "ภูภิ ภูภะ อะมิ มิมังกายะพัทธนัง อธิษฐานมิ"
6. ตะกรุดอุดครั่ง หลวงพ่อทองศุข วัดโตนดหลวง
พระครูพินิจสุตคุณ หรือ หลวงพ่อทองศุข อินทโชโต วัดโตนดหลวง ตำบลบางเก่า อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี เป็นสุดยอดพระเกจิอาจารย์ชื่อดังแห่งเมืองเพชรบุรี วิชาเอกของท่านมีหลายอย่าง ทั้งคงกระพัน หมอยา ว่าน และที่ขึ้นชื่อจนเป็น 1 ใน 9 ยอดเครื่องรางไทยก็คือ ครั่งพุทรา
- การสร้างตะกุดอุดครั่ง หลวงพ่อทองศุข
ครั่ง คือ ยางไม้จากต้นพุทราตายพรายที่เอามาปลุกเสก แล้วผสมว่านสมุนไพร รวมทั้งผสมผงพระจันทร์ครึ่งซีก ต้นตำรับกล่าวว่า หลวงพ่อเคยได้หนังเสือมาผืนหนึ่งในระหว่างที่ท่านออกธุดงค์ พอมาถึงวัดแล้วหลวงพ่อท่านก็เอาหนังเสือผืนนั้นมาแบ่งทำเป็นตะกรุดและลูกอมพอกครั่งจนหมดผืน ซึ่งจะเป็นยุคต้น ๆ ของการสร้างวัตถุมงคล "ครั่งเหลือร้ายวัดโตนดหลวง" ดังนั้นจึงมีน้อยมาก ว่ากันว่าในตอนที่หลวงพ่อท่านปลุกเสกนั้นมักเกิดเรื่องอัศจรรย์ที่ทำให้โบสถ์ต้องลั่นและสั่นไหวเลยทีเดียว
- พุทธคุณ ตะกรุดอุดครั่ง หลวงพ่อทองศุข
ตะกรุดอุดครั่ง วัดโตนดหลวง นับเป็นหนึ่งในเครื่องรางวัตถุมงคลยอดนิยม เป็นเลิศในความคงกระพัน มีสรรพคุณในทางถอนพิษร้ายต่าง ๆ คุ้มครองป้องกันภัย หากินคล่อง และยังเด่นทางมหาอำนาจ เสริมบารมี เหมาะสำหรับผู้มีตำแหน่งหน้าที่และมีผู้อยู่ใต้บังคับบัญชา แถมมีเสน่ห์เมตตามหานิยมลึกล้ำ เป็นประสบการณ์ที่เล่าขานมาทุกวันนี้ คนเมืองเพชรจึงเชื่อว่าเครื่องรางของท่านมีฤทธิ์เข้มขลัง แม้แมลงวันก็ไม่ได้ดื่มเลือด พระคาถาการใช้ตะกรุดพอกครั่งพุทรา บทย่อ "นะ โม พุท ธา ยะ" บทเต็ม "นะ โม พุท ธา ยะ นะเมตตา โมกรุณา พุทปรานี ธายินดี ยะเอ็นดู อะคือตัวกู อุคือคนทั้งหลาย อะจะทำอะไร กูได้มนุษย์ศรัทธา ด้วยนะโมพุทธายะ ข้าพเจ้าด้วยเถิด อะระหังพุทโธ พุทธะสังมิ อิสวาสุ"
7. ราหู หลวงพ่อน้อย วัดศีรษะทอง
หลวงพ่อน้อย คนฺธโชโต วัดศีรษะทอง อำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม ท่านมีวิทยาคมแก่กล้า ด้วยว่าได้รับการถ่ายทอดวิชามาจากโยมบิดา นามว่า นายมา ซึ่งเป็นหมอรักษาโรคแผนโบราณ ทั้งยังเก่งกาจเรื่องคาถาอาคม ความอยู่ยงคงกระพัน โดยเฉพาะวิชาราหูอมจันทร์ จนเป็นที่นับถือศรัทธาของชาวบ้านทั่วไป
- การสร้างราหู หลวงพ่อน้อย
การสร้างกะลาราหูตามตำรับหลวงพ่อน้อยนั้น หลวงพ่อจะให้ลูกศิษย์หากะลามะพร้าวตาเดียว ซึ่งหาได้ยาก แล้วนำมาแกะเป็นรูปพระราหูอมพระอาทิตย์ และพระราหูอมจันทร์ ซึ่งวิธีการสร้างนั้นก็มีขั้นตอนที่ซับซ้อน คือนอกจากต้องใช้กะลาตาเดียวแล้ว ต้องจัดแต่งเครื่องบวงสรวงครูบาอาจารย์ และชำระกายให้สะอาด จากนั้นจึงค่อยลงยันต์อักษรขอมลาว "สุริยประภา" และยันต์ "จันทรประภา" โดยฤกษ์ในการลงนั้น หากเป็นยันต์สุริยประภาต้องลงในเวลาเกิดสุริยคราส และยันต์จันทรประภาต้องลงเวลาเกิดจันทรคราสเท่านั้น ซึ่งไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยนัก
- พุทธคุณ ราหู หลวงพ่อน้อย
กะลาราหูของหลวงพ่อน้อยนั้นมีสรรพคุณมากมาย ทั้งในด้านเมตตามหานิยม เสริมลาภ เสริมบารมี และช่วยในเรื่องบรรเทาอาการเจ็บป่วย ช่วยหนุนดวง เชื่อว่าถ้ามีกะลาราหูไว้ติดตัว เวลาดวงตก ราหูเข้า จะดลให้เคราะห์จากหนักมาเป็นเบา หรือจากเบาจะไม่มีเลย ทั้งนี้ ผู้บูชาจะต้องตั้งมั่นอยู่ในศีลธรรมและคุณพระรัตนตรัยจึงจะดี สำหรับคาถาสุริยะบัพพา การบูชากลางวัน มีดังนี้ "กุสเสโตมะมะ กุสเสโตโต ลาลามะมะ โตลาโม โทลาโมมะมะ โทลาโมมะมะ โทลาโมตัง เหกุติมะมะ เหกุติฯ" ส่วนคาถาจันทบัพพา การบูชากลางคืน มีดังนี้ "ยัดถะตังมะมะ ตังถะยะ ตะวะตัง มะมะตัง วะติตัง เสกามะมะ กาเสกัง กาติยังมะมะ ยะติกาฯ"
8. แหวนอักขระ หลวงปู่ยิ้ม วัดหนองบัว
หลวงปู่ยิ้ม จนฺทโชติ อดีตเจ้าอาวาสวัดหนองบัว ตำบลหนองบัว อำเภอเมือง จังหวัดกาญจนบุรี เป็นพระบรมครูแห่งสายลุ่มน้ำแม่กลอง มีชื่อเสียงโด่งดัง เป็นที่เลื่อมใสศรัทธาของพุทธศาสนิกชนมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน พระเครื่องและเครื่องรางของขลังของท่านล้วนเป็นที่นิยมแสวงหาอย่างสูง
- การสร้างแหวนอักขระ หลวงปู่ยิ้ม
แหวนอักขระ หรือแหวนพิรอด เป็นวัตถุมงคลที่มีฤทธานุภาพสูงสุด สร้างตามตำรับพิธีตำราโบราณ ที่มีความพิถีพิถันละเอียดประณีตมาก นับเป็นสุดยอดแหวนหมายเลข 1 ของเมืองไทย โดยหลวงปู่จะนำผ้ามัดตราสังห่อศพที่ท่านเสกและลงอักขระคาถาบนผ้าเป็นเวลานาน นำมาพันเป็นแหวน ผ่านการบริกรรมคาถาตลอดการพันให้ครบ 108 จบ แล้วนำมาคลุกผงพุทธคุณ ไคลโบสถ์ ไคลเสมา ข้าวไหว้พระพุทธ ดอกไม้ไหว้พระพุทธ ดินกลางแม่น้ำ ดินรังต่อแตน รังหมาร่าที่เกาะที่เศียรพระพุทธรูป ฯลฯ จนครบตามตำราโบราณ ขาดอย่างหนึ่งอย่างใดไม่ได้โดยเด็ดขาด เสร็จแล้วนำไปจุ่มรัก ปลุกเสก 7 วัน 7 คืน เมื่อปลุกเสกเสร็จจะโยนเข้ากองไฟ หากแหวนไม่ไหม้เป็นอันใช้ได้
- พุทธคุณ แหวนอักขระ หลวงปู่ยิ้ม
อาณุภาพของแหวนนั้นเรียกได้ว่าครอบจักรวาล ทั้งทางด้านการป้องกันสิ่งไม่ดี คุณไสย มนตร์ดำ ช่วยเสริมดวง คงกระพัน แคล้วคลาด กันไฟ จนมีคำกล่าวว่า ถ้ามีเครื่องรางของหลวงพ่อยิ้ม ก็ยังยิ้มได้เมื่อภัยมา และด้วยรูปแบบการถักแหวนที่เป็นเอกลักษณ์สวยงาม ไม่ซ้ำแบบใคร ทำให้ง่ายต่อการแยกแยะจากสำนักอื่น
9. ลูกสะกดเนื้อแร่บางไผ่ หลวงปู่จัน วัดโมลี
หลวงปู่จัน เป็นเจ้าอาวาสองค์ที่ 3 แห่งวัดโมลี จังหวัดนนทบุรี เป็นผู้ที่ทำให้วัดแห่งนี้มีชื่อเสียงกระฉ่อนเมือง ด้วยวัตถุมงคลชิ้นเอกของท่านคือ "พระปิดตามหาอุด เนื้อแร่บางไผ่" หนึ่งในชุดเบญจภาคีพระปิดตาเนื้อโลหะ ที่ปัจจุบันมีความนิยมสูงมากและหาของแท้ได้ยากนัก
- การสร้างลูกสะกดเนื้อแร่บางไผ่ หลวงปู่จัน
ว่ากันว่าหลวงปู่จันเป็นพระธุดงค์ชาวเขมร ที่มีความรู้เรื่องการเล่นแร่แปรธาตุและรู้จักแร่ธาตุต่าง ๆ เป็นอย่างดี จนกระทั่งท่านได้เข้าญาณและพบว่ามีแร่ศักดิ์สิทธิ์อีกชนิดหนึ่งที่คล้ายแร่เหล็กไหล ท่านจึงได้ออกติดตามสายแร่นั้นมา โดยแร่ดังกล่าวเรียกว่า "แร่บางไผ่" มีเพียงแห่งเดียวในประเทศไทย คือ ในคลองบางคูลัด จังหวัดนนทบุรี แต่เมื่อมาถึงก็พบเพียงมวลสารแร่ ท่านจึงนำมาเลี้ยงต่อ จนสามารถนำมาสร้างลูกสะกดเนื้อแร่ได้ เชื่อกันว่าถ้าเรานำแร่บางไผ่มาแช่น้ำไว้ ให้กินอาหาร น้ำคาวปลา เศษเนื้อ จะทำให้แร่บางไผ่อยู่ในสภาพที่มีเนื้อแร่เหล็กอยู่ แต่ถ้านำแร่บางไผ่ขึ้นมาไว้บนบกและตากแดดไว้ นาน ๆ แร่บางไผ่ก็จะตาย
- พุทธคุณ ลูกสะกดเนื้อแร่บางไผ่ หลวงปู่จัน
สำหรับพุทธคุณของแร่บางไผ่จะเน้นหนักไปทางด้านคงกระพันและมหาอุด ถ้านำพระแร่บางไผ่ไปแช่ไว้ในน้ำมันงาบริสุทธิ์ ให้ครบ 7 วันแล้ว ให้เอาน้ำมันงานั้นมาทาตัวก็จะช่วยให้อยู่ยง แคล้วคลาด กันเขี้ยวงาได้ดี มั่งมีศรีสุข และหากมีภัยจวนตัวจนสู้ไม่ไหว ให้กลืนลูกแร่บางไผ่ลงไปทันที ก็จะสามารถหลุดรอดจากอันตราย และพระแร่จะกลับคืนมาหาเราโดยออกมาทางเบื้องสูง
และนี่คือ 9 เครื่องรางมหามงคลที่ยังคงเป็นที่กล่าวขานของคนทั้งประเทศ นอกจากจะเข้มขลังด้วยพุทธคุณจากรุ่นสู่รุ่น ยังเต็มไปด้วยความงดงามทั้งศาสตร์และศิลป์ ไม่ว่าจะเป็นกรรมวิธีการสร้าง ความเคารพรักในครูบาอาจารย์ และสิ่งเหล่านี้นี่เองที่เป็นเสน่ห์กลิ่นอายความเชื่อของเครื่องรางไทย
ขอบคุณข้อมูลจาก : เฟซบุ๊ก สยามมงคล, articlesdd.blogspot.com, t-amulet.com, taradpra.com, เฟซบุ๊ก พระเกจิ-คณาจารย์ นครสวรรค์, kruengrangthai.com