หลวงปู่หลิว ประวัติ
หลวงปู่หลิว ปณฺณโก มีนามเดิมว่า “หลิว แซ่ตั้ง” (ภายหลังเปลี่ยนเป็น นามถาวร) เป็นบุตร คุณพ่อเต่ง คุณแม่น้อย แซ่ตั้ง เกิดเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 7 ธันวาคม พ.ศ. 2448 ณ หมู่บ้านหนองอ้อ ต.บ้านสิงห์ อ.โพธาราม จ.ราชบุรี แม้ครอบครัวจะประกอบอาชีพทำไร่ทำนา แต่หลวงปู่หลิวก็มีความขยันขันแข็ง ได้เรียนรู้วิชาช่างควบคู่ไปด้วย เพราะบิดานั้นเป็นช่างไม้ฝีมือดีคนหนึ่ง ซึ่งตั้งแต่เด็กจนโตท่านจะรับจ้างคนอื่นเพื่อให้ได้เงินมาจุนเจือที่บ้าน โดยต้องเดินทางไกล ๆ ไปทำงาน บางครั้งก็ทำให้ถึงกับล้มป่วย ด้วยเหตุนี้ท่านจึงมีความรู้เกี่ยวกับยาสมุนไพรมากมาย จนได้เป็นหมอยาประจำหมู่บ้านไปโดยปริยาย
ในอดีตนั้น เขตภาคกลาง เพชรบุรี ราชบุรี สุพรรณบุรี นครปฐม กล่าวกันว่าเป็นแดนเสือ ดงนักเลง มีโจรผู้ร้ายมากมาย ครอบครัวของหลวงปู่หลิวเคยโดนขโมยวัว-ควายหลายครั้ง ท่านจึงคิดหาวิธีปราบโจร และได้เดินทางไปพบกับอาจารย์หม่ง จอมขมังเวทย์ชาวกะเหรี่ยง พร้อมขอฝากตัวเป็นศิษย์เพื่อเรียนวิชาอาคม หลวงปู่หลิวเรียนรู้ได้ 3 ปีกว่า จนถึงอายุ 21 ปี ก็ศึกษาวิชาได้อย่างลึกซึ้ง ก่อนจะเดินทางกลับ อาจารย์หม่งได้กำชับอย่างเด็ดขาดว่าวิชาอาคมต่าง ๆ ที่ประสิทธิ์ประสาทให้ ห้ามใช้จนกว่าจะถูกรังแกทำร้ายอย่างถึงที่สุด หลังจากท่านกลับมาที่หมู่บ้าน ก๊กโจรก็เข้ามาปล้นชิงอีก ท่านจึงใช้วิชาควายธนูขับไล่ จนมีข่าวลือแพร่สะพัดว่าท่านเป็นคนมีของดี แม้มิจฉาชีพจะเข้ามาลองของก็ต้องพ่ายแพ้ทุกราย ในที่สุดหลวงปู่หลิวก็ปราบโจรลงอย่างราบคาบ
เมื่อหลวงปู่หลิวใช้ชีวิตอยู่กับภรรยาและลูกชายมาระยะหนึ่งแล้ว ท่านได้สัมผัสกับกระแสแห่งความวุ่นวายในสังคมมนุษย์ จนกระทั่งอายุได้ 27 ปี ท่านจึงได้เข้าสู่ร่มกาสาวพัสตร์ อุปสมบท ณ พัทธสีมาพระอุโบสถ วัดโบสถ์ ต.บ้านเลือก อ.โพธาราม จ.ราชบุรี โดยมีหลวงพ่อโพธาภิรม แห่งวัดบำรุงเมือง เป็นพระอุปัชฌาย์ หลวงพ่ออินทร์ วัดโบสถ์ เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และมีพระอาจารย์ห่อ วัดโบสถ์ เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับฉายาจากพระอุปัชฌาย์ว่า “ปณฺณโก” (อ่านว่า ปัน-นะ-โก) จากนั้นได้ไปจำพรรษาที่วัดหนองอ้อ บ้านเกิด และเดินทางไปศึกษาวิชาอาคมเพิ่มเติมกับอาจารย์ชาวกะเหรี่ยงอีกครั้ง รวมทั้งหลวงพ่อแดง วัดเขาบันไดอิฐ จ.เพชรบุรี พ่อท่านคล้าย วัดสวนขัน จ.นครศรีธรรมราช หลวงพ่ออุ้ม จ.นครสวรรค์ รวมถึงคณาจารย์อีกหลายท่าน
ในพรรษาแรกนั้น หลวงปู่หลิวได้มีโอกาสใช้วิชาช่างช่วยท่านเจ้าอาวาสสร้างศาลาการเปรียญหลังหนึ่ง ซึ่งใหญ่มากจนสำเร็จ และด้วยความที่ท่านเป็นพระที่ไม่หยุดนิ่ง จึงได้บูรณปฏิสังขรณ์ ก่อสร้างเสนาอาสนะ สร้างวัดใหม่ เช่น วัดไร่แตงทอง วัดไทรทองพัฒนา รวมถึงศาสนสถานอื่นเป็นจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นวัดวาอาราม สำนักสงฆ์ โรงพยาบาล โรงเรียน สถานีอนามัยต่าง ๆ ตามปณิธานอันแรงกล้าของท่านที่จะทำนุบำรุงพระศาสนา และพัฒนาสาธารณประโยชน์ ว่า “เกิดมาชาติหนึ่งขอตั้งปณิธานด้วยสัจวาจา 2 ประการ คือ
ประการที่ 1 งด ละ เลิกอบายมุข ทุกชนิด
ประการที่ 2 เมื่อมีโอกาสขอสั่งสมบารมี ด้วยการสร้างเสนาสนะ เช่น โบสถ์ วิหาร กุฏิ ศาลาการเปรียญ จนกว่าชีวิตจะหาไม่”
หลวงปู่หลิวได้กลับมาจำพรรษา ณ วัดหนองอ้อ อีกครั้งหนึ่ง เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2540 พอเริ่มเข้ากลางปี พ.ศ. 2543 หลังจากพิธีพุทธาภิเษกวัตถุมงคลรุ่นเสาร์ 5 เป็นต้นมา หลวงปู่ก็เริ่มอาพาธด้วยโรคชรา จนท่านละสังขารเมื่อวันจันทร์ที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2543 เวลา 20.35 น. รวมอายุ 95 ปี 74 พรรษา
ต่อมาในปี พ.ศ. 2548 พระใบฎีกาสายชล จิตฺตกาโร เจ้าอาวาสวัดไร่แตงทองรูปปัจจุบัน และคณะศิษย์ ได้ดำเนินการจัดสร้างรูปเหมือนหลวงปู่หลิว นั่งประทับพญาเต่าเรือน องค์ใหญ่ สูง 8 เมตร 1 ศอก กว้าง 6 เมตร 1 คืบ และยาว 8 เมตร 1 คืบ พร้อมด้วยวิหารครอบ เพื่อเป็นอนุสรณ์แห่งความดี ปัจจุบันถือเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์แห่งหนึ่ง ซึ่งบรรดาผู้เลื่อมใสศรัทธาต่างหลั่งไหลไปชมและลอดใต้ตัวเต่า ด้วยความเชื่อที่ว่าจะหายจากโรคภัยไข้เจ็บ อายุยืนเหมือนเต่า และเหมือนหลวงพ่อหลิวที่มีอายุยืนยาวถึง 95 ปี
ตำนานพญาเต่าเรือน
สำหรับตำนานพญาเต่าเรือนนั้น เมื่อสมัยพุทธกาล มีพญากาเผือกผัวเมียคู่หนึ่งอาศัยอยู่ริมแม่น้ำใหญ่ พญากาเผือกตัวเมียได้ออกไข่มา 5 ฟอง อยู่มาวันหนึ่งพญากาเผือกทั้งคู่ได้บินออกไปหากิน ปล่อยให้ไข่ทั้ง 5 ฟองอยู่ในรังโดยไม่มีใครเฝ้า วันนั้นได้เกิดพายุรุนแรงขึ้นบริเวณริมฝั่งแม่น้ำแห่งนั้น ไข่ทั้ง 5 ฟองจึงถูกพายุพัดตกลงไปในแม่น้ำ แล้วลอยน้ำกระจัดกระจายไปคนละทิศคนละทาง ไข่พญากาเผือกได้ถูกเก็บไปเลี้ยงโดยสัตว์ชนิดต่าง ๆ คือ
- ฟองแรก เต่านำไปเลี้ยงไว้
- ฟองที่สอง พญานาคนำไปเลี้ยงไว้
- ฟองที่สาม พญาราชสีห์นำไปเลี้ยงไว้
- ฟองที่สี่ โคนำไปเลี้ยงไว้
- ฟองที่ห้า งูนำไปเลี้ยงไว้
หลวงปู่หลิว พุทธคุณมีอะไรบ้าง
วัตถุมงคลของหลวงปู่หลิว ปณฺณโก เริ่มสร้างประมาณปี พ.ศ. 2500 ที่วัดสนามแย้ ในยุคแรก ๆ จะเป็นพระเนื้อผงเป็นส่วนใหญ่ มีหลายรูปแบบทั้งเหรียญ, รูปหล่อลอยองค์, พระบูชา, พระสังกัจจายน์, พระปิดตา ส่วนเครื่องรางของขลัง มีทั้งตะกรุดคาดเอว, จิ้งจกสองหาง, กัณหาชาลี, ล็อกเกต
แต่วัตถุมงคลที่สร้างชื่อเสียงและได้รับการยอมรับมากที่สุดก็คือ "พญาเต่าเรือน" ซึ่งท่านศึกษาวิชานี้มาจากหลวงพ่อย่น วัดบ้านฆ้อง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี
ลักษณะโดยทั่วไปของพญาเต่าเรือน จะมีลักษณะเป็นรูปเต่า มี 4 ขา ปลายหัวด้านบนจะมีหูติดลักษณะเดียวกับหูเหรียญ ส่วนรายละเอียดในตัวจะมีความแตกต่างกันไปตามรุ่น โดยท่านได้จัดสร้างและอธิษฐานจิตปลุกเสกวัตถุมงคล พญาเต่าเรือน ในรูปแบบต่าง ๆ ไว้หลากหลาย ทั้งเหรียญรูปพญาเต่าเรือน เนื้อโลหะ เนื้อผงพุทธคุณ รูปเหมือนบูชา ผ้ายันต์ ฯลฯ
เหรียญพญาเต่าเรือนของหลวงปู่หลิวนี้มีพุทธคุณดีหลายด้าน ทั้งคงกระพันชาตรี เมตตามหานิยม สู้คดีความ ทำมาค้าขายขึ้น มีโชคลาภเงินทอง เกื้อหนุนให้มั่งมีศรีสุข แคล้วคลาดปลอดภัย อีกทั้งใครมีพญาเต่าเรือนอยู่ภายในบ้านจะไม่มีความเดือดร้อน ร่มเย็นเป็นสุข ครอบครัวญาติพี่น้องรักใคร่สามัคคี ไม่ทะเลาะกัน
หลวงปู่หลิว บูชาที่ไหน อย่างไร
ใครที่อยากสักการบูชา หลวงปู่หลิวประทับพญาเต่าเรือน และรับวัตถุมงคล สามารถเดินทางไปได้ที่ วัดไร่แตงทอง ต.ทุ่งลูกนก อ.กำแพงแสน จ.นครปฐม รูปปั้นของหลวงปู่จะอยู่ภายในวิหาร ซึ่งผู้คนจะนิยมลอดใต้ท้องพญาเต่าเรือน เพราะจะทำให้มีอายุยืนเหมือนเต่า ร่างกายแข็งแรง หายจากโรคภัยไข้เจ็บ
นอกจากนี้ยังต้องเอาศีรษะสัมผัสกับเท้าหน้าด้านซ้ายที่ยื่นเลยออกมาจากแท่น เหมือนกับว่าให้เต่าเหยียบเพื่อเป็นสิริมงคล ส่วนใครที่ขอพรหรือบนบานศาลกล่าว เมื่อสัมฤทธิผลดังปรารถนา สิ่งที่นิยมนำมาแก้บน นอกจากดอกไม้ ผลไม้แล้ว ที่แปลกไปกว่าที่อื่น ๆ ก็คือ ผักบุ้ง ซึ่งมักจะนำมาถวายพญาเต่าเรือนนั่นเอง
คาถา หลวงปู่หลิว
คาถาขอลาภ หลวงปู่หลิว
ให้ตั้งนะโม 3 จบ แล้วสวดมนต์ดังนี้
“จะขอลาภหลวงปู่หลิว จะมะหาเถรา
สุวรรณะมามา ระชะมามา เพชรชะมามา
อาหาระมามา ขาทะนียะมามา โภชะนียะมามา
สัพเพชะนา พะหูชะนา สัพพะบูชา ภะวันตุเม
นะชาลีติ อาคัจฉัยยะ อาคัจฉาหิ”
แล้วต่อด้วยคาถาพญาเต่าเรือน
คาถาพญาเต่าเรือน
"นะมะภะทะ นาสังสิโม สังสิโมนา สิโมนาสัง โมนาสังสิ นะอุทะกะ เมมะอะอุอะ"
เต่าหลวงปู่หลิว รุ่นไหนนิยมสุด
กว่า 80% ในการจัดสร้างวัตถุมงคลต้นตำรับ หลวงปู่หลิว จะเป็นรูปเหรียญพญาเต่าเรือน ที่ได้รับความนิยมอย่างสูงและแพร่หลายไปทั่วทุกภูมิภาค ทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ โดยเฉพาะผู้ที่ประกอบธุรกิจค้าขาย ส่งผลให้เหรียญพญาเต่าเรือนบางรุ่นมีราคาค่อนข้างสูง ได้แก่ พญาเต่าเรือน รุ่น 1 วัดสนามแย้ พญาเต่าเรือนหลวงปู่หลิว รุ่นปลดหนี้ ที่มีพุทธคุณทุกด้าน แต่จะเน้นดังทางด้านค้าขายเจริญรุ่งเรือง มีโชคลาภ รุ่นสร้างอุโบสถ รุ่นไตรมาส เหรียญที่ระลึกในการทำบุญอายุ และที่ฮือฮาล่าสุดก็คือเหรียญหลวงปู่หลิว รุ่นจิ๋ว มีกำไร รุ่นปี 51 ซึ่งปลุกเสกโดย พระครูปฐมจินดากร หรือหลวงพ่อสายชล ศิษย์เอกของหลวงปู่หลิว ปณฺณโก โดยความเชื่อว่าใครห้อยเหรียญหลวงปู่หลิวจะแคล้วคลาดจากเหตุร้าย ไม่มีวันตายโหง
แม้หลวงปู่หลิวจะมรณภาพไปกว่า 20 ปีแล้ว แต่ชื่อเสียงความดีของท่านที่เป็นพระนักพัฒนา มีพุทธาคมสูงส่ง และมากด้วยเมตตา ใช้ชีวิตสมถะ ทำให้ท่านเป็นที่เลื่อมใสของผู้คนทั่วทุกสารทิศ และเป็นแบบอย่างของทั้งภิกษุและฆราวาส จวบจนถึงทุกวันนี้
ขอบคุณข้อมูลจาก : เฟซบุ๊ก ชมรมพระเครื่อง เครื่องรางของขลัง, web-pra.com, itti-patihan.com